เมื่อพูดถึงโรงเรียน ใครหลายคนคงมองเห็นภาพผู้ปกครองขับรถไปส่งเด็กหญิงเด็กชายตัวน้อยๆ ไปโรงเรียน ครั้งพอถึง เด็กหญิงเด็กชายเหล่านั้นก็จะเรียนๆ เล่นๆ อยู่กับพ้องเพื่อนทั้งวันกระทั่งเลิกเรียน แล้วตั้งตาคอยผู้เป็นบิดามารดามารับกลับบ้านในตอนเย็น
ภาพเหล่านี้ถือว่าเป็นภาพทั่วไป หากเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กปกติ และครอบครัวที่เราพูดถึงไม่มีลูกพิการทางการเห็น
จะต้องยอมรับว่า ถึงแม้การศึกษาของคนตาบอดจะดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งมาถึงจุดที่คนตาบอดได้ศึกษาไม่ต่างจากคนอื่นๆ ทว่าในมุมหนึ่งโดยเฉพาะตามหมู่บ้าน ตามอำเภอ หรือตามจังหวัดในหลายๆ จังหวัด โรงเรียนหลายโรงเรียนก็ยังไม่อยากจะรับเด็กตาบอดเข้าศึกษา อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร รวมไปถึงในบางส่วนก็ไม่มีความเข้าใจว่าตาบอดแล้วจะเรียนไปทำไม เรียนได้ด้วยหรือ เป็นต้น
จากสาเหตุหลายประการ เด็กตาบอดจึงมีความจำเป็นที่ต้องไปเข้าศึกษาตามศูนย์การศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนเฉพาะทาง ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ถึงแม้คนตาบอดจะได้รับทักษะที่จำเป็นสำหรับคนตาบอดมาแล้ว เช่นการใช้ภาษาเบรลล์ หรือในเรื่องอ่านเขียน แต่เด็กตาบอดก็ยังไม่สามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านได้ เพราะโรงเรียนละแวกนั้นขาดผู้มีความรู้ด้านเด็กตาบอด ทำให้ไม่รู้ว่าจะสอนยังไง จะสั่งงานเด็กยังไง หากเด็กส่งงานเป็นภาษาเบรลล์แล้วจะทำอย่างไร เป็นต้น
ในเมื่อได้ทักษะที่จำเป็นมาแล้วแต่ก็ยังเรียนร่วมกับคนทั่วไปไม่ได้ เด็กตาบอดก็ต้องมีความจำเป็นที่ต้องกลับเข้าไปอยู่ในโรงเรียนเฉพาะทาง เช่นโรงเรียนสอนคนตาบอดตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเข้าศึกษาต่อตามโครงการเรียนร่วม ที่มูลนิธิขอความร่วมมือจากโรงเรียนใกล้เคียงเอาไว้ ทำให้เด็กตาบอดเข้าเรียนกับคนปกติได้ โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเป็นคนคอยประสานเกี่ยวกับเรื่องการเรียนให้
อาทิทำสื่อการเรียนเป็นหนังสือเบรลล์หรือไฟล์ Word คอยอ่านการบ้านให้ รวมไปถึงคอยประสานในเรื่องอื่นๆ
จากประสบการณ์ส่วนตัวและเท่าที่พบมา เด็กตาบอดจะเริ่มเข้ามาอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่อายุประมาณ 5 – 6 ขวบ โดยทางโรงเรียนจะถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นให้ทั้งหมด จากนั้นค่อยส่งออกไปเรียนตามโรงเรียนปกติ เด็กตาบอดจะอาศัยอยู่โรงเรียนสอนคนตาบอดไปจนกระทั่งถึงมัธยมปีที่ 3 – 6 ต่อจากนั้นเด็กก็จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือไปลงสายอาชีพ ตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล
ในการมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด หากเด็กมีบ้านอยู่ไม่ไกลก็จะได้กลับบ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หรือไม่ก็พักอยู่ที่บ้านไปเลย ทว่าในกรณีที่เด็กบางคนบ้านอยู่ต่างจังหวัดหรืออยู่ห่างไกลจากศูนย์คนตาบอด เด็กกลุ่มนี้จะได้กลับบ้านตัวเองน้อยมากๆ โดยเฉลี่ยจะได้กลับ 2 – 4 ครั้งต่อปีเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้เด็กตาบอดจะได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจากถิ่นที่อยู่ของตนเองไป ลองคิดเล่นๆ ว่า หากตามอำเภอมีโรงเรียนอย่างน้อย 1 แห่งที่สามารถสอนเด็กตาบอด หรือมีความเข้าใจในเด็กตาบอด เราจะสามารถลดจำนวนเด็กที่จะต้องจากบ้านของตัวเองไปตั้งแต่ยังเล็กได้แค่ไหนกันบ้าง
โรงเรียนแห่งนั้นอาจไม่ถึงกับต้องมีเจ้าหน้าที่ที่อ่านภาษาเบรลล์ได้ ขอแค่เปิดโอกาส รวมไปถึงทำความเข้าใจว่า ในปัจจุบัน เด็กตาบอดสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ในการพิมพ์งานหรือส่งงานได้ ขอเพียงครูผู้สอนลองหาวิธีสอน หาวิธีบรรยายให้คนตาบอดเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน หรือไม่คิดกีกกันการเรียนรู้ของเด็กตาบอดก็พอแล้ว
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด
แสดงความคิดเห็น