เพื่อนคนตาบอดหลายคนหรือแม้แต่เพื่อนตาดีเองคงจะเคยเข้าไปใช้งานเว็บต่างประเทศกันบ้าง สำหรับคนที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ เช่นจีน ญี่ปุ่นในระดับดีก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้งานกันสักเท่าไหร่ แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่อาจยังใช้งานภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องมากนัก ก็อาจจะลำบากอยู่บ้าง เพราะต้องคอยใช้บริการการแปลภาษาจาก Google อยู่เรื่อย ซึ่งก็มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะหลายครั้งก็ต้องกดแปลหน้าเว็บตรงด้านข้าง URL ของเว็บไซต์นั้นๆ ขณะใช้ระบบค้นหา บ้างก็ต้องมากดใช้ฟีเจอร์การแปลภาษาของเบราว์เซอร์ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนหน้าเว็บ
ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อเพื่อนผู้อ่านอ่านบทความนี้จนจบ ทั้งนี้ทาง Blind Living จะขอแนะนำไปตั้งแต่วิธีที่หลายคนรู้อยู่แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนที่ยังไม่รู้จักฟีเจอร์การแปลภาษาเลย รวมถึงอธิบายขั้นตอนขั้นสูง ที่ทำให้การใช้งานเว็บต่างประเทศง่ายไม่ต่างจากใช้เว็บภาษาไทยกันเลย จะทำยังไงกันบ้างไปเริ่มอ่านกันเลย
1. แปลภาษาโดยการใช้ลิงก์การแปลที่อยู่ด้านข้างเว็บที่เราต้องการใช้งานผ่านหน้าค้นหาของ Google
ขั้นตอนการแปลมีดังนี้
- ค้นหาเว็บต่างประเทศที่เราต้องการใช้งาน หรือค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ผู้อ่านต้องการค้นหาข้อมูล
- จากหน้าผลการค้นหาของ Google ให้เราไปตรงหน้าลิงก์เว็บที่เราต้องการใช้งาน
- ให้เราเลื่อนลงไปหาคำว่า “แปลหน้านี้” ที่อยู่ด้านล่างถัดจากลิงก์เว็บที่เราต้องการเข้าใช้งาน
- จากนั้นกดเข้าไป
เมื่อเราเข้าไปแล้ว หน้าเว็บที่เราเข้าใช้งานก็จะถูกแปลเป็นภาษาไทยให้เราในทันที ซึ่งการใช้งานด้วยวิธีนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียดังต่อไปนี้
ข้อดี
- เมื่อเราทำการกดแปลหน้าเว็บดังกล่าวไปแล้ว ต่อจากนั้น ไม่ว่าเราจะกดไปยังหน้าอื่นๆ ของเว็บเดียวกัน ตัว Google แปลภาษา จะทำการแปลหน้าเว็บเป็นภาษาไทยให้เราเสมอ โดยที่เราไม่ต้องกดแปลเองทุกหน้า
- การแปลภาษาด้วยวิธีนี้ทำง่าย เพราะแค่เรากดแปลหน้านี้ในหน้าผลการค้นหา เว็บที่เราเข้าใช้งานก็ไม่ต่างจากเว็บภาษาไทย
ข้อเสีย
- การแปลภาษาด้วยวิธีนี้ ตัว Google แปลภาษาจะทำการเปลี่ยนแปลง URL หรือลิงก์เว็บที่เราเข้าใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามแปลข้อความให้เราในระหว่างการใช้งานเว็บดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเราต้องการเก็บลิงก์หน้าเว็บดังกล่าว หรือต้องการแชร์หน้าเว็บให้กับคนอื่นๆ จึงไม่สามารถได้ลิงก์เว็บที่เป็นต้นฉบับ เพราะจะติดลิงก์ของทาง Google แปลภาษาไปด้วย
- หากเป็นเว็บไซต์ที่เรามีการสมัครสมาชิกและเข้าสู่ระบบเอาไว้ การแปลด้วยวิธีนี้ จะไม่ถือว่าเราเข้าใช้งานเว็บนั้นๆ โดยตรง เพราะถือว่าเข้าผ่านลิงก์ที่ทาง Google สร้างขึ้นมา ดังนั้นเราก็จะเข้าใช้งานในนามบุคคลทั่วไป หากต้องการใช้งานระบบสมาชิก เราก็จะต้องกดเข้าสู่ระบบใหม่ทุกครั้งที่มีการแปลภาษา
2. แปลภาษาด้วยฟีเจอร์การแปลข้อความของเบราว์เซอร์ Chrome
ขั้นตอนการแปลมีดังนี้
- ให้เราเข้าไปในหน้าเว็บต่างประเทศที่เราต้องการใช้งาน
- จากนั้นกดปุ่มแอปพลิเคชัน หรือคลิกขวา หรือกดปุ่ม shift+F10 (ดำเนินการแบบไหนก็ได้ ตามที่ผู้อ่านสะดวก เนื่องจากเป็นคำสั่งเดียวกัน) เพื่อเปิดเมนูของ Chrome ขึ้นมา
- เลื่อนไปหาคำว่า “แปลเป็นไทย” จากนั้นให้กด Enter เพื่อเรียกใช้คำสั่งแปล
- รอสักครู่เพื่อให้เบราว์เซอร์แปลข้อความให้เรา เมื่อระบบแจ้งว่าแปลเสร็จแล้ว ให้เรากดปุ่ม ESC เพื่อปิดเมนูแปลภาษาไป
- ถึงตอนนี้หน้าเว็บที่เราใช้งานอยู่ก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ทำการอ่านข้อความที่ต้องการได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม
หากฟีเจอร์การแปลภาษาของใครไม่ขึ้นคำว่า “แปลเป็นไทย” แต่ขึ้นคำว่า “แปลเป็น English” ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ให้กดเข้าไปในคำว่า “แปลเป็น English”
- จากนั้นให้กดปุ่ม Tab ไปหาคำว่า “ตัวเลือกแปลภาษา” แล้วกดเข้าไป
- ให้เลื่อนไปหาคำว่า “เลือกภาษาอื่น” แล้วกดเข้าไป
- ให้ Tab ไปหาคำว่า “เลือกภาษาปลายทางของหน้าเว็บ”
- ในเมนูแบบเลื่อนลง ให้เราเลือกเป็นภาษาไทย ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถพิมพ์ตัวอักษรหาเพื่อความรวดเร็วในการค้นหาภาษาได้
- เมื่อเลือกภาษาไทยได้แล้ว ให้เรา Tab ไปหาปุ่มแปลภาษา จากนั้นให้ Enterเพื่อทำให้เป็นภาษาไทย
ขั้นตอนนี้เราจะตั้งค่าเฉพาะกรณีที่ระบบขึ้นเมนูแปลภาษาเบื้องต้นของเราเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เมื่อทำตามขั้นตอนนี้แล้ว หากเราใช้งานครั้งต่อไป ตัวเบราว์เซอร์ก็จะขึ้นเมนู “แปลเป็นไทย” ให้เราแล้ว
แต่หากเราต้องการตั้งค่าให้เบราว์เซอร์แปลหน้าเว็บเป็นภาษาไทยแบบอัตโนมัติทุกครั้งเมื่อเจอหน้าเว็บที่มีภาษาหลักเป็นภาษาอังกฤษ ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยทำตามขั้นตอนนี้
- ให้เราเปิดเบราเซอร์ Chrome ขึ้นมา จากนั้นให้ไปอยู่หน้าเว็บไหนก็ได้ที่เป็นภาษาอังกฤษ ที่ต้องทำแบบนั้น เพราะหากเบราว์เซอร์ตรวจไม่พบหน้าเว็บภาษาอังกฤษ บางเมนูการตั้งค่าจะไม่แสดงขึ้น
- จากนั้นกดปุ่มแอปพลิเคชัน หรือคลิกขวา หรือกดปุ่ม shift+F10 (ดำเนินการแบบไหนก็ได้ ตามที่ผู้อ่านสะดวก เนื่องจากเป็นคำสั่งเดียวกัน) เพื่อเปิดเมนูของ Chrome ขึ้นมา
- เลื่อนไปหาคำว่า “แปลเป็นไทย” จากนั้นให้กด Enter เพื่อเรียกใช้คำสั่งแปล
- จากนั้นให้ Tab ไปหาคำว่า “ตัวเลือกแปลภาษา” แล้วกดเข้าไป
- จากนั้นให้เราไป Enter ตรงคำว่า เลือกแปลภาษาอังกฤษทุกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น
หลังจากทำตามวิธีนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าใช้งานเว็บภาษาอังกฤษ ตัวเบราว์เซอร์ก็จะทำการแปลเป็นภาษาไทยให้เราในทันที
ส่วนหากอยากกลับมาใช้การแปลเป็นรายครั้ง ก็ให้เราเข้าไปตรงเมนูตัวเลือกการแปลภาษา ตามด้วย Enter ตรงคำว่า “ไม่ต้องแปลภาษาอังกฤษ” จากนั้นเมื่อเบราว์เซอร์ตรวจพบหน้าเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ ตัวเบราว์เซอร์ก็จะไม่ทำการแปลอัตโนมัติให้เรา ถ้าเราอยากแปลก็จะต้องดำเนินการด้วยตัวเองเป็นครั้งๆ ไปนั่นเอง
ข้อดี
- การแปลด้วยวิธีนี้สะดวกรวดเร็ว สามารถแปลหน้าเว็บไหนก็ได้ เพราะบางเว็บก็ไม่ได้มีลิงก์สำหรับกดแปลภาษาให้เราในหน้าผลการค้นหาของ Google
- การแปลด้วยวิธีนี้ เป็นการแปลจากตัวเบราว์เซอร์โดยตรง ดังนั้น เมื่อเราเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่เราเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ก็สามารถเข้าใช้งานระบบสมาชิกของเว็บนั้นๆ ได้ทันที เพราะตัวแปลภาษาไม่มีการเปลี่ยน URL หรือลิงก์แต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องเข้าระบบใหม่
- สามารถทำการเก็บลิงก์เว็บ หรือแชร์ลิงก์เว็บได้เลย เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง URL ของเว็บไซต์นั้น
- สามารถตั้งค่าการแปล-ภาษาอัตโนมัติได้ ไม่ต้องทำการแปลเอง ใช้เว็บต่างประเทศได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากเว็บไทย
ข้อเสีย
- เนื่องจากเป็นการดำเนินการผ่านเบราว์เซอร์ จึงมีขั้นตอนที่ซับซ้อนพอสมควร
- บางครั้งเมนูการแปลภาษาอาจไม่แสดงขึ้น แม้ว่าเราจะอยู่ในหน้าเว็บที่เป็นภาษาต่างประเทศ วิธีแก้คือ ให้เราเลื่อนเมาส์หรือลูกศรไปชี้จุดที่เป็นข้อความที่ไม่ใช่ลิงก์ เมนูการแปลภาษาถึงจะแสดงขึ้นมา
- เนื่องจากมีการแปลอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับคนที่กำลังฝึกภาษา หรือคนที่ต้องการการแปลศัพท์เฉพาะทางที่แม่นยำบางอย่าง
ข้อควรทราบ
- วิธีการทำในบทความ ทางทีมงานใช้เบราว์เซอร์ Chrome ภาษาไทย ดังนั้นสำหรับใครที่ใช้ UI เป็นภาษาอังกฤษ อาจจะต้องใช้การเปรียบเทียบระหว่างภาษา
- แม้ว่าในบทความจะเน้นไปที่เบราว์เซอร์ Chrome เป็นหลัก ทว่าก็ใช้วิธีนี้ได้ในเบราว์เซอร์ส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน
สรุป
ด้วยเทคโนโลยีการแปลที่ก้าวหน้าขึ้นตามความฉลาดของ AI ช่วยลดระยะห่างทางภาษาลง ทำให้คนที่ไม่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศก็สามารถเข้าถึงข้อมูลภาษาอื่นได้ แม้สำหรับคนตาบอดบางขั้นตอนการแปลอาจอ่านแล้วซับซ้อนไปบ้าง ทว่าหากเราใช้บ่อยจนเกิดความชิน การแปลภาษาในแต่ละครั้งก็จะสามารถทำได้เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น
ทาง Blind Living ก็หวังว่าบทความนี้จะเกิดประโยชน์ให้กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย ไว้พบกันในบทความถัดไป ว่าทาง Bllind Living จะมีอะไรมานำเสนออีกบ้าง
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด
อ้างอิง
- ภาพประกอบสร้างโดย AI Chat GPT
- คำบรรยายสร้างโดยแอปพลิเคชัน Be My Eyes
แสดงความคิดเห็น