คุณอยู่ที่

‘ช่วยเหลือ’ หรือ ‘คิดแทน’ ความคล้ายคลึงที่แตกต่างในการช่วยคนตาบอด

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ จันทร์, 12/23/2019 - 11:30

เคยไหม บางครั้งตอนเดินทาง เวลาไปซื้อตั๋วรถ คนที่ช่วยมักจะถามเพียงว่า “น้องจะไปไหน” หรือ “ไปรถอะไร” แต่ไม่เคยถามเราเลยว่า “น้องจะไปรถด่วนวีไอพีหรือรายทาง” หรือไม่ก็ “น้องจะไปรถของบริษัทอะไร”

ส่วนใหญ่จะถามเพียงคร่าวๆ แล้วจัดการซื้อตั๋วให้เลย ซึ่งจะได้ไปรถบริษัทอะไร หรือได้ไปรถด่วนหรือไม่ คนที่ช่วยซื้อมักจะคิดแทนเสียเป็นส่วนมาก แล้วโดยทั่วไปคนที่ช่วยซื้อก็มักจะเลือกรถราคาไม่แพงให้ ด้วยคิดไปเองว่ากลัวคนตาบอดเสียเงินเยอะ ดังนั้นรถที่ขึ้นจึงมักจะเป็นบริษัทเล็กๆ หรือรถรายทาง ซึ่งช้าเอามากๆ หรือพนักงานบนรถดูแลไม่ดี

ถามว่าแต่ก่อนผมรู้สึกอะไรมั้ย คำตอบคือ “ไม่” เพราะคิดเอาว่า แค่เขาใจดีเดินไปซื้อตั๋วให้ก็บุญเท่าไหร่แล้ว แต่พอได้ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ของบริษัทหนึ่ง ซึ่งเมื่อเขาไปส่งเราถึง บขส. แล้ว เขากลับให้ความใส่ใจมากๆ คือถามทุกอย่าง ตั้งแต่จะไปไหน ขึ้นรถอะไร บริษัทอะไร รถด่วนหรือเปล่า คือเขาจะไม่พยายามคิดแทน ปล่อยให้เราได้เลือกด้วยตัวเอง แล้วผมรู้สึกดีมากๆ ที่เป็นแบบนี้

อันนี้เป็นแค่เพียงกรณีหนึ่ง ลองคิดเล่นๆ ดูว่า การใช้ชีวิตของคนตาบอดไม่ได้มีเพียงเรื่องในตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมานี่เท่านั้นที่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องมาก เช่นเรื่องที่พัก เรื่องเรียน เรื่องการตัดสินใจอื่นๆ ซึ่งในหลายเรื่องนี้ ผมมาลองฉุกคิดดูว่า มันจะมีกี่กรณีกันบ้าง ที่คนตาบอดหรือคนพิการอื่นๆ สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองทุกอย่าง โดยที่ไม่มีการ “คิดแทน” เข้ามาแทรกการตัดสินใจของเราด้วย ถ้าวัดตามบริบทของสังคมไทย ส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะมีครอบครัวคนพิการเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ไม่คิดแทน แต่เลือกช่วยตามการตัดสินใจของคนพิการเป็นสำคัญ

การคิดแทนไม่ได้อยู่เพียงบุคคลทั่วไปในสังคม แม้แต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ยังมีการคิดแทนที่เห็นได้ชัด เช่นมักจะมีในหลายๆ กรณี ที่เจ้าหน้าที่มักคิดไปเองว่า อันนั้นไม่ดีสำหรับคนตาบอด อันนี้คนตาบอดทำไม่ได้ หรือไม่ควรให้คนตาบอดทำ คนตาบอดจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ถึงจะดี เป็นต้น

อันที่จริงแล้วการคิดแทนไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะตัวคนพิการเองก็รู้ว่าคนที่คิดแทนนั้นคิดแทนด้วยความเป็นห่วง ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่คนพิการเองไม่ได้เอ่ยบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการออกไปให้อีกฝ่ายรู้ เพราะแค่มีคนช่วยก็ดีเท่าไหร่แล้ว ถ้าจะบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการออกไปทั้งหมดก็กลัวคนที่มาช่วยยุ่งยากและเสียเวลา ดังนั้นจึงไม่เคยมีคนตาบอดออกมาพูดถึงในเรื่องนี้มากเท่าไหร่

ถามว่าทำไมผมถึงเลือกที่จะนำเรื่องนี้มาเขียน นั่นก็เพราะว่า ผมอยากจะให้คนในสังคมหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวค่องทราบว่า การคิดแทนไม่ได้เหมาะกับคนตาบอดทุกเรื่องและทุกคน และการคิดแทนไม่ได้ถูกต้องไปเสียทุกอย่าง ดังนั้นหากพอเป็นไปได้ ในการช่วยเหลือแต่ละครั้ง ก็อยากจะให้คนที่ช่วยยึดเอาการตัดสินใจของคนพิการเป็นหลักด้วย คือคนตาบอดไม่ได้อยากให้มันตรงตามความต้องการทุกอย่าง แต่แค่อยากให้การช่วยเหลือนั้นๆ มันอิงตามการตัดสินใจของคนตาบอดเองก็พอ

ถ้าหากคิดแทนมากไป บางครั้งสิ่งที่ทำมันก็อาจไม่ส่งผลดีต่อคนตาบอดมากเท่าไหร่ อย่างมีหลายบริษัทที่พยายามทำอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับคนตาบอดออกมา เช่นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก ซึ่งพอปล่อยออกมาแล้ว คนตาบอดก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง หรือเพียงเข้าถึงได้แต่ไม่ทั้งหมด

สาเหตุเกิดจากการที่ผู้ผลิตหรือตัวคนออกแบบคิดไปเองว่า คนตาบอดน่าจะใช้ได้ โดยที่คนทำไม่เคยได้มาสอบถาม ไม่เคยมาสัมผัส หรือไม่เคยนำอุปกรณ์หรือโครงการนั้นๆ มาให้คนตาบอดทดลองใช้เลย เสร็จแล้วค่อยปล่อยออกมา สุดท้ายใช้ไม่ได้ก็ต้องตามแก้ อันไหนแก้ไม่ได้ก็ปล่อยทิ้งไว้ สุดท้ายอุปกรณ์หรือโครงการนั้นๆ ก็เป็นแค่ ‘สิ่งที่ดี แต่ใช้งานไม่ได้’

จริงๆ การช่วยเหลือคนพิการไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงแค่เราปรับความต้องการเข้าหากันได้ เช่น คนตาบอดต้องการอะไร คนช่วยเหลือสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน หากคุยกันได้ก็ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเช่น ผมไปซื้อตั๋วรถ ผมอาจจะบอกพี่วินมอเตอร์ไซต์ว่า “พี่ครับ พี่ช่วยไปซื้อตั๋วให้ผมหน่อยได้มั้ย”

พี่วินตอบว่า “โทษนะน้อง พอดีพี่รีบ คงไปซื้อให้ไม่ได้”

ผมพูดไปว่า “งั้นไม่เป็นไรครับ งั้นพี่ช่วยพาผมไปหาที่ยืน หรือที่นั่งที่พอมีคนหน่อยก็พอ”

พี่วินพูดว่า “ได้น้อง”

เพียงแค่นี้เราก็ตกลงกันรู้เรื่องแล้วว่าผมต้องการให้ช่วยเหลืออะไร แล้วคนที่ช่วยเหลือเราช่วยได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องต่อจากนั้น ค่อยหาคนช่วยเหลือเราต่อก็ได้ มันต้องมีใครสักคนแหละ ที่เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือเรา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ แต่สามารถนำไปต่อยอดแนวคิดได้หลายกรณี เช่นสมมุติว่ามีหน่วยงานหนึ่งต้องการทำแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้ โปรแกรมเมอร์ก็จะต้องมาพูดคุยกับคนตาบอดก่อนว่าคนตาบอดต้องการแบบไหน แล้วโปรแกรมเมอร์สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน แล้วหากไม่ได้จะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าคนใช้งานและคนออกแบบปรับเข้าหากันได้ ยังไงซะแอปพลิเคชันที่ทำออกมาก็ต้องใช้งานได้ มันก็เปรียบเหมือนความต้องการของคนตาบอดกับคนที่จะช่วยเหลือคนตาบอดนั่นแหละ หากรู้ว่าคนตาบอดต้องการอะไร แล้วคนช่วยสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน อะไรได้ อะไรไม่ได้ แค่นี้ผลลัพธ์ที่ออกมายังไงก็ต้องเป็นบวก

จะเห็นว่าการคิดแทนมันไม่ได้เป็นเรื่องแย่ทั้งหมด แต่มันก็ไม่ได้ดีทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้นหากทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของคนตาบอด ให้คนตาบอดสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ทั้งหมด ทว่ายังไงก็คงดีกว่าให้คนอื่นมาคิดแทนไปซะทุกอย่างแน่นอน

อ่านมาจนถึงตอนนี้ ผู้อ่านพอจะรู้หรือยัง ว่าคุณเคยช่วยคนตาบอดแบบไหน? คิดแทนให้ทุกอย่าง หรือช่วยแบบอิงความต้องการของคนตาบอดจริงๆ


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 2 (1 vote)

แสดงความคิดเห็น