คุณอยู่ที่

ประหนึ่งนกจะยกฟ้า

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ type27
เขียนโดย type27 เมื่อ เสาร์, 01/11/2025 - 18:08
ในภาพนี้เป็นภาพของนกโรบินที่อยู่ในกรงเหล็ก นกมีขนสีส้มสดใสที่หน้าอกและคอ ขนด้านหลังเป็นสีน้ำตาลและขาว กรงเหล็กมีลักษณะเป็นเส้นโค้งและมีสนิมเล็กน้อย พื้นหลังของภาพเป็นสีเข้มทำให้นกและกรงดูโดดเด่นมากขึ้น

            เคยมีคนกล่าวไว้ว่า มนุษย์เกิดมาเป็นลูกธนูบนคันศร การเลี้ยงดูคือสายพาดรอวันปล่อยให้หลุดจากแหล่ง ซึ่งก็หมายถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือใครก็ตามแต่ในฐานะผู้อบรมดูแล มีหน้าที่ทำให้เราขับเคลื่อนได้ ไม่พุ่งย้อนกลับมาอยู่กับที่ ไม่หัก และไม่เสียบผิดเป้าหมาย หากจะมีอะไรต่างกันระหว่างคนกับลูกธนู ก็ตรงที่ธนูดอกนี้มีชีวิต มีทางอยากเลือกเดิน ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับเป้าหมายของคนน้าวสายก็ได้

            สำหรับธนูตาบอด ชีวิตอาจเปรียบเหมือนดอกศรที่ไม่มีเป้าหมายข้างหน้าให้เลือกมากนัก และมักเป็นกลุ่มที่คนน้าวสายเล็งให้ เป้าหมายนั้น อาจคืออะไรก็ตามที่เราอยากไปให้ถึง หรือเพียงวางอยู่เฉย ๆ  ไม่ได้ยิงออก และไม่มีใครอยากยิงก็ได้ และความหมายของคนน้าวสายสำหรับคนตาบอดก็มากกว่าเพียงครอบครัวหรือครู แต่หมายถึงทั้งสังคม ไม่ว่าเราจะพยายามขึ้นไปอยู่บนคันธนู พาดตัวเองกับสายแห่งอนาคต และพยายามใช้ทุกความสามารถน้าวแล้วน้าวอีก บางครั้ง คนที่เลือกว่าเราจะพุ่งออกไปหรือไม่ และพุ่งไปที่ใด อาจไม่ใช่เรา

            ผู้เขียนเป็นคนชอบใช้ภาพ การใช้ภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอารูปธรรมให้ใครดู แต่หมายความว่า มีหยดน้ำตาในน้ำค้าง และนกพิราบที่พยายามกระพือปีกติดขอบฟ้าในความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องบอกว่าสีอะไร เพียงรู้ว่ามันบินไม่ขึ้นก็พอ บางทีภาพชีวิตก็เหมือนตัว ด เด็ก ที่ขอดหัววงขึ้นซ้าย อ้อมโค้งลงมาด้านขวาใกล้หัวขอดแรก แต่ในบรรดาภาพทั้งหมด ภาพนกน่าจะทำให้เห็นชัดมากที่สุด

            เรื่องนกที่ว่ามานั้นเป็นนิทานสมัยเด็ก เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อก่อนท้องฟ้าอยู่เตี้ยจนนกบินชน พวกนกจึงรวมใจกันบินดันท้องฟ้าขึ้นไปจนอยู่สูงเหมือนทุกวันนี้ ฟังดูแล้วเหมือนท้องฟ้าเป็นแผ่นกระดาษอะไรสักอย่าง แต่ก็สะท้อนภาพบางภาพออกมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของคนตาบอด จะต่างกันก็แต่เราไม่มีกำลังยกฟ้า เพราะขอบฟ้าติดคำว่า สังคม ความเชื่อ และมายาคติอยู่

            เรื่องมายาคติและความเชื่อนั้นสำคัญ เพราะไม่ได้มีผลเพียงแต่กับการกำหนดอนาคตของคนตาบอดอย่างเดียว แต่ฝังลงไปในรากฐานครอบครัว และทำให้ใครหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองจริง ๆ แล้วมีอนาคต ป้าของผู้เขียนมักบอกเสมอว่า โชคดีแล้วที่เกิดเป็นลูกพ่อลูกแม่บ้านนี้ หลานของอีกคนในหมู่บ้านเดียวกัน เขาให้อยู่แต่ในห้อง ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้เรียน คำพูดของป้าแบบนี้ทำให้สะเทือนใจได้ไม่น้อย เพราะมันหมายถึงคนตาบอดไม่มีอนาคตยังเหลืออยู่ในสังคมที่บอกว่าเปิดกว้างและให้โอกาส ตัดภาพมาที่ความโชคดีของตัวเอง ซึ่งก็คำพูดคนอื่นอีก เราโชคดีแล้วจริงหรือ ได้อะไรบ้าง นอกจากกรอบและพื้นที่สังคมจัดสรรให้ มีอะไรมากพอจะเรียกว่าโชคหรือยัง ถ้ามีจริง ทำไมตอนนี้ คนตาบอดแข่งกันเป็นโรคจิตเวชมากขึ้นทุกที

            วัยเด็ก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะคล้ายกันในหมู่คนตาบอดจากครอบครัวชนชั้นกลางตั้งแต่พอมีอันจะกินขึ้นไป เมื่อไม่มีเหตุผลผลักดันให้ต้องรีบด่วนหางาน และพ่อแม่รู้สึกว่าเลี้ยงได้ ก็มีเรื่องไม่อยากให้ลูกทำอะไรมาก ไม่อยากให้ลำบาก ส่งเรียน ส่งทำงานดี ๆ  จะได้สบาย ความเชื่อและการปฏิบัติลักษณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากการไม่อยากยอมรับความพิการของคนตาบอด เมื่อจำเป็นต้องรับก็กลายเป็นความกังวลจนถ่ายทอดมาถึงตัวเด็กเอง ผู้เขียนไม่มีโอกาสเห็นตอนแม่แอบร้องไห้ จนกระทั่งมีคนเล่าให้ฟังเมื่ออายุเกินเลขสิบแล้ว ชีวิตในวัยเด็ก อย่างน้อยก็สี่ปีแรก ผ่านไปปกติ แม่พาไปจับดอกไม้บ้าง อ่านหนังสือให้ฟังบ้าง ยายจับสวดมนต์ตั้งแต่สามขวบ แต่เมื่อเรื่องนอกบ้านเข้ามา นั่นเอง ทุกอย่างจึงเริ่มไม่เหมือนเดิม

            เคยมีครูการศึกษาพิเศษพูดกับผู้เขียนว่า อันที่จริงเด็กห้าขวบยังไม่ควรส่งเรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่สำหรับโรงเรียนของผู้เขียน ห้าขวบไม่มีความหมายมากนัก แต่จะไม่มีเพราะโรงเรียนตัดสินใจ หรือเพราะผู้ปกครองของผู้เขียนเองขอให้ส่งตัว ความจริงข้อนี้ยังคลุมเครือ แต่การเรียนร่วมสองปีแรก เปลี่ยนเด็กคนหนึ่งไปทั้งชีวิต และทำให้ผู้เขียนสัมผัสอย่างลึกซึ้งและเจ็บปวดว่า ความปรานีและเข้าใจ หาได้น้อยนักในโลก

            การถูกแกล้ง ถูกล้อเรื่องความพิการ เป็นเรื่องปกติเท่ากับที่เด็กธรรมดาถูกล้อเรื่องอื่น แต่การถูกล้อและถูกกระทำโดยผู้ใหญ่ด้วย ทำให้คำล้อกลายเป็นเรื่องแทงใจดำ เพราะเจ็บ จึงต้องสู้ ในขณะที่คนรอบข้างไม่อยากให้ทำอะไร อยากให้สบาย เมื่อโลกต้องการตรงข้าม ผู้เขียนอยู่บนปนิธานว่า จะหุบปากคนเหล่านั้นลงให้ได้ด้วยการทำทุกอย่างที่พวกเขาไม่อยากให้ทำ ทั้งงานบ้าน งานสังคม โชคยังดีที่เหลือคนในครอบครัวเข้าใจอยู่ระดับหนึ่ง ได้มีโอกาสเรียนดนตรี เข้าวง และเป็นแกนนำของวงคู่กับหัวหน้าในบางครั้ง พอให้รู้สึกมีอะไรโดดเด่นกว่าเรื่องตาบอดบ้าง แต่จนแล้วจนรอด การทำอะไรหลบ ๆ ซ่อน ๆ  ก็เป็นผลลบสะสมในใจ รอวันระเบิด และระเบิดในที่สุด

            เมื่อการพยายามหุบปากคน กลายเป็นการสร้างความคาดหวังให้พวกเขา ความเครียด ความกดดัน ก็ทับถมพอกพูน บวกกับการอยู่แบบกบฏในความดูแลของคนที่มักคิดว่าตัวเองถูกเสมอ ก็ทำให้รู้สึกไม่มีพื้นที่มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนเปรียบภาพตอนนั้นเหมือนนกในกรงที่ถูกใครต่อใครหยิบไปวางไว้ตรงนั้นตรงนี้ และตะโกนใส่เมื่อพยายามบิน ติดหลังคากรงไม่เท่าไร ติดความกดดันข้างนอกหนักยิ่งกว่ามากนัก

            ความเครียดเหมือนก๊าซในขวดโซดาใส่น้ำแห่งหวังและกำลังใจ ใครแตะต้องมันทีหนึ่ง ก็ทำให้มันอยากพุ่งออกจากขวดขึ้นระดับหนึ่ง ก๊าซนั้นหากทิ้งไว้สักพักก็จะกลับเข้าไปอยู่ในน้ำ แต่ความเครียดนั้นไม่มีใครทิ้ง เพราะไม่เห็นรูปของมันภายในจนกว่าจะเปิดขวด แข่งกันเขย่า มารู้ก็ต่อเมื่อมันทะลักทะลายออกมาพร้อมน้ำ ที่บัดนี้กลั่นเป็นน้ำตาแล้ว และความพยายามปิดขวด คือคำว่า เข้าใจ ที่ไม่ได้หมายความเช่นนั้นจริง

            ไม่มีใครอยากหาเรื่องเป็นผู้ป่วยจิตเวชโดยไม่จำเป็น และการเข้าไปอยู่ในตึกที่แม้จะเต็มไปด้วยคนเข้าใจ แต่ไม่มีอะไรให้ทำ ไร้แม้กระทั่งหนังสือให้อ่าน ก็ทำให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เตรียมการเพื่อผู้ป่วยที่ไม่ใช่คนปกติมากน้อยเพียงใด ผู้เขียนฆ่าเวลาด้วยการหลับจนหมอเข้าใจว่าป่วย  และเจ็บปวดเมื่อเห็นคนตาดีวาดรูป ความบันเทิงหนึ่งเดียวนอกจากการคุยกับคนในตึกเดียวกันคือ การดูโทรทัศน์ แม้แต่เตียงก็ยังต้องอยู่หน้าโต๊ะพยาบาลเพื่อความปลอดภัย ในขณะที่ภายนอก พ่อ แม่ และคนในครอบครัวที่เหลือ กลืนความเจ็บปวดของคำว่า เข้าใจ ราคาถูก และความกลัวลูกเสียประวัติ ด้วยบทเรียนราคาแพง

            เรื่องนั้นจบไปแล้ว นกกลับเข้ามาอยู่ในกรง มีพื้นที่หายใจเพิ่มขึ้นบ้าง มีโอกาสได้บินบ้าง นับว่าพบกันครึ่งทาง แม้จะรู้สึกเบาลง ผู้เขียนก็อดถามสังคมไม่ได้ในบางครั้งว่า ทำไมคำว่า อิสระ ของคนไม่มีตา ต้องแลกกับวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาล สงสัยว่าการเกิดเป็นลูกหลานคนมีอันจะกินน้อยกว่านี้ จะทำให้เป็นนกติดกรงอยู่หรือเปล่า และตั้งคำถามกับอะไรหลายอย่างในความเป็นอยู่ของตัวเองและเพื่อนฝูง บางคนชอบกรง บางคนอยากออกมาบิน แต่คนอยากออกมาบินมีน้อยนัก หรือเราเองด้วย ทำให้สังคมเห็นภาพเช่นนั้น ถ้าชีวิตจะเหมือนตัว ด เด็ก มันก็เริ่มลากเส้นจากครอบครัวขอดหัวตรงนี้เอง

            ปัญหาทางจิตของคนตาบอดมิได้มาจากเพียงการขาดพื้นที่หรือถูกล้อ ถูกกระทำจนเป็นปม ลักษณะการเลี้ยงดู บางครั้งก็ส่งผลด้วย ความเหมาะสมและทางสายกลาง สามารถนำมาปรับใช้กับอะไรก็ได้ ซึ่งในที่นี้หมายถึงขอบเขตอำนาจที่คนปกติมีด้วย มากเกินไปในสังคมที่ยังติดปัญหา ก็อาจทำให้หาจุดยืนได้ไม่แน่นอน แต่น้อยเกินไปคือบีบให้โอกาสแสดงตัวเองน้อยลง ผู้เขียนอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ยืนอยู่ระหว่างความสุดโต่งทั้งสองด้าน เมื่อบ้านอยากให้สบายที่สุด แต่โลกทรมานที่สุด ลักษณะไร้สมดุลชนิดนี้ ทำให้มิเพียงแต่การปรับตัว แม้พยายามเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน ก็ดูผิดที่ผิดทางไปหมด

            มิใช่ว่าผู้เขียนจะไม่เคยพบคนตาบอดที่ครอบครัวพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง ซึ่งถ้าเทียบกับร้อยละของกลุ่มถูกทอดทิ้งทางอารมณ์นับว่าน้อยมาก คนตาบอดที่พร้อมมักมีลักษณะน่าสนใจ คือ ไม่ตั้งคำถามกับสายงาน พื้นที่ หรือจุดที่ตัวเองยืนแม้ตระหนักว่าไม่มั่นคง ข้อนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะการสนับสนุนทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีทุนกำลังใจตั้งแต่แรก คิดถึงอนาคตจึงเห็นภาพชัดเจน แต่ ณ บางครั้ง กลุ่มที่พร้อมเหล่านั้นก็อยู่ในจุดที่บอกไม่ได้ว่า งานปัจจุบันจะมั่นคงเพียงใด มีแรงสู้ด้วยต้นทุนกำลังใจเท่านั้น

            สำหรับร้อยละที่เหลือ ซึ่งก็อยู่บนผลกระทบเดียวกันแต่อาจรุนแรงและวุ่นวายกว่า อยู่อย่างตั้งคำถามกับคำว่า พื้นที่ในอนาคต อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมักบอกให้นักศึกษาพิการไปฝึกงานกับหน่วยงานคนพิการ ทำวิจัยเรื่องคนพิการ และเมื่อศึกษาเสร็จ ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นไปทำงานกับองค์กรคนพิการ หากจะโชคดีอยู่บ้างสำหรับคนตาบอดบางคน ก็คือไปเป็นคนรับโทรศัพท์ ขายหวย เรียนนวด วนไปวนมาไม่กี่อาชีพ ส่วนจะได้ดีกว่านั้นหากไม่มีเครือข่ายอยู่ก่อนก็แทบไม่ต้องหวัง ยกเว้นว่า เครือข่ายนั้นจะเสนองานล้างจานให้ในร้านอาหารสักแห่ง ซึ่งก็เสี่ยงต่อการถูกหมายหัวก่อนเข้าไปว่า จะล้างสะอาดหรือ จนบางครั้งคนตาบอดเองก็อยากตั้งคำถามกลับว่า เจ้าของคำถามไม่เคยใช้ประสาทมือสัมผัสดูว่า น้ำมันที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ยังติดอยู่บนจานหลังล้างเสร็จบ้างไหม

            สังคมไทยเป็นสังคมประโคมเรื่องโอกาส เรื่องความเท่าเทียม และเรื่องสิทธิคนพิการ นั่นคือฉากหน้า ส่วนเนื้อนั้นคือพื้นที่เล็ก เดินไม่กี่ก้าวก็ทั่ว ไม่มีตัวเลือกให้มากนัก ไม่ว่าหน่อยงานคนพิการ แม้กระทั่งหน่วยงานคนตาบอด จะบอกว่าส่งเสริมสักเพียงใด สาเหตุหนึ่งก็เพราะสังคมเป็นเช่นนี้เอง และความเชื่อที่ฝังรากตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ก็ลดทอนสิ่งที่ควรเป็นศักยภาพของคนตาบอด แม้ว่าจะพยายาพัฒนาทีหลัง พัฒนาคนเดียว และแสดงออกมากเพียงใด หากยังไม่ถึงเป้าที่สังคมต้องการ ก็ทำให้ภาพคนตาบอดน่าดูถูกมากขึ้น ตัว ด เด็กของชีวิต ขีดวงขึ้นไปเตรียมโค้งตรงนี้ นกออกจากกรงก็บินติดฟ้าตรงนี้

            แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุด และไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ กฎหมายปัจจุบันนี้ มีไว้ให้นายทุนฉวยโอกาสกับคนพิการ แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือ มีหลายบริษัท หลายองค์กร ใช้ช่องโหว่ด้านการจ้างงานคนพิการลดภาษี ทำสัญญาเทียม ใช้เศษเงินแลกผลประโยชน์โดยไม่คิดจะจ้างจริงเพราะเห็นว่าต้องจ่ายมากขึ้นและไม่คุ้มทุน  หนึ่งในนั้นผู้เขียนประสบเข้าเอง เรื่องตรงกันของบริษัทเหล่านี้คือ ไม่มีใครถามว่า คนพิการทำอะไรได้บ้าง ตาบอดแล้วใช้คอมพิวเตอร์ได้ไหม ใช้โปรแกรมอะไร มีหน้าที่ไหนในบริษัทคิดว่าน่าจะพอช่วยได้ หากถาม คนตาบอดบางส่วน และอาจเป็นส่วนใหญ่ คงมีคำตอบให้มากมาย แต่เมื่อไม่ถาม คนที่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็ต้องคว้าไว้ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย บางครั้งบริษัทมีเงื่อนไขให้ใช้ได้เฉพาะโปรแกรมที่จัดหาให้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รองรับการอ่านหน้าจอ เคยมีคนเสนองานลักษณะนี้ให้ผู้เขียนแล้วครั้งหนึ่ง สุดท้ายจบลงที่ต่างคนต่างหาย พร้อมข้อเสนอเงินเดือนด้วย หากบริษัทจะผ่อนปรนให้ใช้ซอฟต์แวร์อะไรก็ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น

            จนบัดนี้ ค่าของมนุษย์มีศักยภาพคนหนึ่ง ถูกลดทอนลงเหลือตั้งแต่พันถึงสามพันบาท หากสังคมไทยมีพื้นที่ให้คนพิการจริง นี่หรือ คือหลักฐาน มันแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เด็กจนโต ในชีวิตของคนพิการคนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเป็นตอนอายุยังน้อย ไม่มีอะไรให้เห็นและให้เลือกมากไปกว่าการถูกล้อ ถูกจำกัด และฉวยโอกาสหลายรูปแบบจากคนที่เรียกตัวเองว่า ปกติ โดยไม่มีคำถามย้อนกลับมา หรือโอกาสให้แสดงตั้งแต่แรกว่า ทำอะไรได้บ้าง

            อันที่จริงเรื่องไม่อยากจ้างงานคนตาบอดไม่ได้เป็นกันแต่ในสังคมไทย แม้ในประเทศอื่นก็มีเช่นกัน ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรงในช่วงอยากทำงานอิสระ มีบัญชีผู้ใช้ในเว็บไซต์ฟรีแลนซ์เว็บไซต์หนึ่ง ครั้งแรก ผู้เขียนระบุไว้ชัดเจนว่า ตาบอด แต่สามารถทำงานได้ และระบุลักษณะงานที่ถนัด ผลคือ ไม่มีใครจ้าง เมื่อลบส่วนที่บอกว่าตาบอดออก มีคนส่งคำเสนองานมาให้ แต่เมื่อรับและบอกว่าตัวเองพิการอย่างไร ก็ถูกปฏิเสธอยู่ดี สุดท้ายจึงตัดสินใจไม่บอก ผลคือ นายจ้างส่งงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอมาให้ เมื่อภาพคือจุดอ่อน แล้วอะไรคือจุดแข็ง เมื่อนกบินไม่ได้ จะให้ถนัดบินคงต้องใช้เวลา คนตาบอดแสดงตัวเองไม่ได้ การหาคำตอบว่า ตัวเองมีศักยภาพอะไรพอขายให้สังคม ก็คล้ายกัน

            ดังนั้น ภาพของพวกเราในสังคมจึงเหมือนเงาสะท้อนเล่นซ้ำ ขายหวย หมอนวด รับโทรศัพท์ และอยู่บ้านไม่ทำอะไร เรียกร้องเอาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ให้กลับไปน้อย ในฐานะคนตาบอดที่สัมผัสกับหลายด้านในสังคมเดียวกัน เห็นตั้งแต่นกติดกรงกระทั่งนกจะยกฟ้า ผู้เขียนปฏิเสธไม่ได้ว่า คนตาบอดบางส่วนเป็นเช่นนั้น ตรงนี้เองที่เป็นหางของตัว ด เด็กวนย้อนกลับมาใกล้ขอดหัว จากจุดเล็กที่สุดสสู่จุดใหญ่ขึ้น แล้วตกกลับมาเล็กยิ่งกว่าใกล้จุดแรก เราคือดอกธนูที่ควบคุมไม่ได้ว่า จะอยู่ตรงนั้น หรือพาดสายแล้วยิงออกไปด้วยมือใคร หลายปัจจัยหมุนเป็นวงกลมแห่งขอบเขต หากพร้อมในจุดหนึ่ง จุดอื่นที่เหลือก็ยังรั้งไว้ นกที่ยกฟ้าได้ด้านเดียว คงมีแต่จะปล่อยให้ฟ้าตกกลับลงมาเหนือมันเหมือนเดิม

            สุดท้ายชีวิตก็ต้องเดินต่อ เดินไปทั้งที่ไม่มีทางให้เดินเช่นนี้เอง ผู้เขียนยอมรับว่า เกลียดคำพูดลักษณะนี้ และไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นคนพูด การเห็นโลกลบ และเห็นโลกจริง ต่างกันเพียงเส้นบางจิ๋วเส้นเดียวตรงที่ความลบจะทำให้ไม่มีกำลังก้าวต่อ แต่ความจริงยังเหลือหวังอยู่ ความหวังยังหอมหวานและสวยงาม แม้อยู่บนพื้นฐานความจริงที่สกปรกและเจ็บปวดกว่า ทว่านกจะยังไม่มีโอกาสยกฟ้า หากสามปมลูกโซ่ คือ สังคม ความเชื่อ และมายาคติ ไม่ได้รับการกระตุ้น แก้ไข และส่งเสริมให้ดีขึ้นตั้งแต่สถาบันเล็กที่สุดขึ้นไป กฎหมายเข้มงวดกับนักฉวยโอกาสมากขึ้น และคนพิการด้วยกันเองมีความเป็นอยู่ ทัศนคติและพฤติกรรมที่ช่วยลบภาพเก่าบางภาพออกไป ซึ่งนั่นหมายถึงการแก้ไขชนิดยกระบบ ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ระบบการทำงาน แล้วย้อนกลับมาจุดเล็กที่สุดคือตัวคนพิการเอง ที่ผู้เขียนวางตัวคนพิการไว้ลำดับสุดท้าย มิใช่เพื่อจะบอกว่าคนพิการผิดน้อยที่สุดในกระบวนการนี้ แต่ทุกอย่างก่อนหน้านั้น มีผลให้คนพิการเป็นอย่างที่เป็นตั้งแต่แรก และการเป็นไปแล้วมาแก้ทีหลัง จะถือว่าเป็นความผิดของคนพิการอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เรื่องนี้อาจฟังดูใหญ่และซับซ้อน แต่ตราบใดที่อนาคตมีคำว่า เป็นไปได้ ความหวังและพยายาม แม้เลื่อนลอย อาจปลดขอบฟ้าได้ในสักวัน

อ้างอิง

- ภาพสร้างจาก AI Gemini
- คำบรรยายสร้างจากแอปพลิเคชัน Be My Eyes


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet

แสดงความคิดเห็น