คุณอยู่ที่

คนตาบอดอ่านหนังสือได้อย่างไร แล้วต้องทำไฟล์หนังสือแบบไหนให้คนตาบอดอ่านได้

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ พฤหัสฯ, 05/23/2019 - 11:07

จริงๆ หากพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการอ่าน หรือเรื่องหนังสือของคนตาบอด หลายๆ คนคงนึกไปถึงเรื่องหนังสือที่เขียนด้วย อักษรเบรลล์ หรือที่มักเรียกติดปากกันว่า “ภาษาเบรลล์”

หรือไม่ หลายๆ คนก็อาจจะนึกไปถึง หนังสือเสียง (Audiobook) ซึ่งเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่ง ที่คนพิการทางสายตาหรือคนตาบอดสามารถเข้าถึงได้

ทว่าวันนี้ผมจะไม่ขอพูดถึงประเด็นเหล่านี้ครับ เพราะคิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว หรือถ้าหากยังไม่ทราบ ก็สามารถกดเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ที่แทรกอยู่ในเนื้อหาได้เลยครับ

คนตาบอดอ่านหนังสือได้ยังไง

เนื่องด้วยในยุคปัจจุบันมีบรรดาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่คนตาบอด ทำให้พฤติกรรมการอ่านของคนตาบอด (โดยเฉพาะวัยรุ่น) เปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเบรลล์ที่ลดน้อยลง หรือการฟังหนังสือเสียงที่ลดลงจากเดิม (ถึงจะไม่เท่าหนังสือเบรลล์ก็ตาม)

ถามว่าหากความนิยมในสื่อที่ผมไล่มาลดลง แล้วคนตาบอดไปหาอ่านความรู้จากที่ไหนกัน? คำตอบก็คือ จากไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่อุปกรณ์ไอทีต่างๆ สามารถเปิดอ่านได้ เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอื่นๆฯ หรือจากอินเตอร์เน็ตครับ

โดยการอ่านของเรา ก็คือเปิดไฟล์ขึ้นมา แล้วให้โปรแกรมอ่านออกเสียง หรือที่เรียกกันว่า “โปรแกรมอ่านหน้าจอ” (screen reader) ช่วยอ่านตัวหนังสือที่ปรากฏขึ้นบนหน้าจอให้ฟังนั่นเอง

โดยหลักการทำงานของโปรแกรมนี้ก็คือช่วยอ่านตัวอักษรบนคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีรูปแบบต่างๆ ที่สามารถติดตั้งแอพ หรือโปรแกรมช่วยอ่านพวกนี้ลงไปได้นั่นแหละครับ ซึ่งในปัจจุบัน หาได้น้อยมากๆ ที่จะไม่มีระบบไหนที่ไม่รองรับ

โดยคนตาบอดสามารถเลือกได้ทั้งหมด ว่าจะให้โปรแกรมอ่านให้ฟังตรงไหนบ้าง หรือในรูปแบบไหนบ้าง เช่นอ่านทีละคำ อ่านทีละบรรทัด อ่านเฉพาะจุดที่นิ้วสำผัสอยู่ หรือที่ลูกศรชี้อยู่ อ่านทั้งหมด หรือจะให้อ่านตัวสะกดของคำนั้นๆ ด้วยก็ได้

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องกังวลว่า ถ้าหากคนตาบอดฟังอย่างเดียวจะสามารถเขียนถูกต้องหรือไม่ เพราะว่าเจ้าโปรแกรมนี้เขาบอกตัวสะกดของแต่ละคำให้ด้วย (หากคนตาบอดอยากรู้)

อย่างส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเบรลล์เท่าไหร่ เพราะผมเป็นคนที่อ่านช้ามาก เพราะไม่ค่อยถนัด ดังนั้นเวลาผมจะอ่านพวกหนังสือเรียน หรือหนังสืออื่นๆ ผมจึงเลือกที่จะอ่านจากไฟล์เอกสารเอา คำไหนเราไม่คุ้นเคย เราก็ปรับให้โปรแกรมสะกดตัวอักษรให้ฟัง เรียกได้ว่าที่ผมอ่านออกเขียนได้มาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะโปรแกรมอ่านหน้าจอนี่แหละเป็นปัจจัยหลักเลย

การทำไฟล์หนังสือให้คนตาบอด

เมื่อสักครู่ผมก็ได้อธิบายคร่าวๆ ไปแล้ว ว่าคนตาบอดอ่านหนังสือกันยังไง คราวนี้ ผมจะขอมาพูดเกี่ยวกับการทำไฟล์หนังสือให้คนตาบอดกันบ้างนะครับ

เอกสารที่คนตาบอดเราใช้โปรแกรมอ่านได้แน่ๆ ทุกระบบทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ก็คือไฟล์ word นามสกุล.doc หรือ docx ครับ ส่วนไฟล์อีกนามสกุลที่คนตาบอดใช้งานได้ดีก็คือไฟล์ .Epub

รองลงมาก็คือไฟล์เอกสารที่เป็น .pdf แต่ว่านามสกุล .pdf นี้ คอมพิวเตอร์จะเข้าถึงไม่ค่อยได้นะครับ แต่ก็มีโทรศัพท์บางรุ่นเหมือนกันที่ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจออ่านได้ เช่นไอโฟน เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกไฟล์ที่อ่านได้เช่นกัน เรียกว่าไฟล์ pdf นี่ต้องเสี่ยงดวงเอาเลยแหละครับ

ดังนั้นเวลาจะทำสื่อการสอน หรือเอกสารประกอบการเรียนต่างๆ เมื่อพิมพ์บน word เสร็จเรียบร้อย อย่าเพิ่งบันทึกไฟล์ให้เป็น .pdf นะครับ แต่ควรที่จะบันทึกต้นฉบับเป็นไฟล์ word นามสกุล .doc หรือ docx เอาไว้ก่อน หรือจะทำไฟล์เป็นนามสกุล .epub เอาไว้ก็ได้เพราะเทอมไหนเทอมหนึ่ง คุณอาจจะมีโอกาสได้สอนคนตาบอดก็ได้ และไฟล์เอกสาร word นี่แหละ ที่จะเป็นปัจจัยหลัก ในการช่วยสอนคนตาบอดได้เป็นอย่างดี

ถามว่าแล้วคนตาบอดสามารถใช้โปรแกรมอ่านไฟล์ PowerPoint ได้หรือไม่ คำตอบคือได้ครับ ถ้าในกรณีที่ตัวอักษรนั้นๆ ไม่ได้ถ่ายมาเป็นรูปภาพ แต่ถึงจะอ่านได้ แต่ก็ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่นะครับ

มาพูดถึงหนังสือนิยาย และหนังสืออ่านเล่น อื่นๆ กันบ้าง

ในส่วนของหนังสือนิยาย หรือสารคดี ที่คนตาบอดอ่านได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของหนังสือเสียง หรือหาอ่านเอาจากบนเว็บ เช่นเด็กดี (อ่านได้ทั้งเว็บและแอปพลิเคชัน) Fictionlog (อ่านได้เฉพาะบนแอปพลิเคชัน) เขียนกัน (อ่านบนเว็บ) ฯลฯ

ถามว่า หนังสือเสียงถูกใจเราทุกเล่มมั้ย แน่นอนว่าไม่ครับ แต่เราก็ต้องอ่านเท่าที่มีให้ ทั้งถูกใจและไม่ถูกใจ ส่วนใหญ่ที่ถูกใจตัวเอง จะเป็นนิยายบนเว็บมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่ามันมีตัวเลือกเยอะกว่าครับ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน จะมีหนังสือรูปแบบอีบุ๊คเข้ามา แต่ก็ใช่ว่าคนตาบอดเราจะเข้าถึงได้ทุกเว็บ โดยเฉพาะหากเว็บไหนมีรูปแบบไฟล์เป็นนามสกุล .pdf แต่ยังถือว่าหลังๆ มานี้ สถานการณ์การอ่านของคนตาบอดดีขึ้นมาก เพราะเว็บอีบุ๊คจำนวนไม่น้อย มีไฟล์ E-pub ให้เลือกใช้งานได้แล้ว

ซึ่งตัวไฟล์ E-pub นี่แหละครับ ที่เป็นอีกไฟล์หนึ่ง ที่คนตาบอดเราเข้าถึงได้ ดังนั้นสำหรับใครที่ขายงานเป็นอีบุ๊ค อย่าลืมทำเป็นไฟล์ E-pub ด้วยนะครับ

ข้อควรทราบ หากต้องการทำไฟล์เป็น E-pub ท่านจะต้องแปลงจากไฟล์ Word เป็น E-pub โดยตรงเท่านั้น ห้ามแปลงไฟล์จาก pdf เป็น E-pub มิฉะนั้นคนตาบดอาจจะเข้าไม่ถึงครับ

หรือแม้แต่นิยายรายตอนแบบอ่านออนไลน์บนเว็บเอง ก็ใช่ว่าเราจะเข้าถึงได้ทุกเว็บเหมือนกัน เนื่องเพราะบางเว็บก็อ่านผ่านหน้าเว็บไม่ได้ แต่พออ่านในแอปพลิเคชันได้ บางเว็บก็อ่านผ่านหน้าเว็บไม่ได้ แล้วก็ยังอ่านบนแอปพลิเคชันไม่ได้ด้วย ซึ่งถ้าใครลงงานหลายที่ ก็จะอำนวยความสะดวกให้กับคนตาบอดได้ในระดับหนึ่งเลยครับ เพราะหากซื้ออ่านที่เว็บหนึ่งไม่ได้ ก็ยังสามารถไปซื้ออ่านที่อีกเว็บหนึ่งได้

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหนังสือ หรือทำสื่อการเรียนการสอนให้กับคนตาบอดใช้งานได้ สามารถ ตั้งกระทู้สอบถาม ได้เลยครับ

ขณะนี้ความรู้เกี่ยวกับคนตาบอดยังเข้าถึงสังคมส่วนรวมได้ไม่มาก หากท่านใดที่ได้อ่านแล้ว ผมรบกวนขอให้ท่านแชร์ความรู้เหล่านี้ออกไป เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วยนะครับผม

ขอบคุณครับ

เพิ่มเติมข้อมูลและปรับปรุงเนื้อหาใหม่เมื่อวันที่ 8 ก.ค. พ.ส. 2568


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 3.5 (4 votes)

แสดงความคิดเห็น