คุณอยู่ที่

“ชวนไปกี่ครั้งก็ไม่ยอมไป” : ชวนทราบสาเหตุที่คนตาบอด (บางส่วน) ไม่ค่อยอยากไปงานบุญ งานแต่งงาน ฯลฯ

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ อาทิตย์, 05/19/2024 - 11:32

สำหรับบทความนี้ ทาง Blind Living ต้องขอออกตัวเอาไว้ก่อนว่า นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่ง และคนตาบอดไม่ได้รู้สึกแบบนี้กันทุกคน หรือทุกงาน บทความนี้เพียงต้องการอธิบายหนึ่งในสาเหตุที่ว่า เพราะอะไร เมื่อมีคนชวนคนตาบอดไปงาน แต่งงาน งานบวช และงานอื่นๆ ทำไมคนตาบอดบางส่วนถึงไม่ค่อยอยากไป

ประการแรกที่คนตาบอดไม่ค่อยอยากไปงานที่เป็นลักษณะงานบุญ หรืองานแต่งงาน เนื่องเพราะงานดังกล่าวมีจำนวนคนเยอะ หากผู้ดูแลมีงานยุ่งไม่พร้อมดูแล คนตาบอดก็จะอยู่ได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ไม่คุ้นเคยกับบุคคลภายในงาน และไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ยาก

ด้วยสาเหตุข้างต้น คนตาบอดจึงเลือกที่จะไม่ไปดีกว่า เพราะหากไป ก็ไปนั่งเฝ้าโต๊ะอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยมีส่วนร่วมใดๆ กับงานที่ไป

ประการที่สองก็คือภายในงานเสียงดังเกินไป ขึ้นชื่อว่าเป็นงานบุญ งานแต่งงาน งานบวช ฯลฯ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเครื่องเสียง

หากงานดังกล่าวเครื่องเสียงเปิดในระดับความดังที่พอดีก็แล้วไป อย่างน้อยๆ คนตาบอดก็ยังพอได้ยินและสื่อสารกับคนรอบตัวรู้เรื่องบ้าง แต่หากภายในงานเปิดเครื่องเสียงดังเกินไป ยิ่งหากจุดที่คนตาบอดนั่งอยู่เป็นบริเวณที่แคบ เช่นภายในเต๊นต์ หรือภายในตัวบ้านแล้วละก็ คนตาบอดจะใช้ชีวิตได้ลำบากมาก เพราะนอกจากตาจะมองไม่เห็น หูยังหนวกจากเหตุที่เครื่องเสียงดังเกินไปอีกต่างหาก ทีนี้จะคุยกับใครก็ไม่ได้ยิน ต้องตะโกนใส่หูกันไปมา หากเป็นคนที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย ครั้นจะยื่นหน้าไปกระซิบข้างหูเขาบ่อยๆ มันก็คงไม่ใช่เรื่อง ส่วนเรื่องอ่านปากก็ทำไม่ได้ เพราะตาบอด

ประการที่สามคือมีโอกาสค่อนข้างมาก ที่คนตาบอดจะถูกละเลย หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกละเลยไม่สนใจ

หากพูดถึงการจัดงานในลักษณะนี้ แน่นอนว่าหากเราไม่ใช่แขกที่ไปร่วมงานแค่ผิวเผิน แต่เป็นญาติกับผู้จัดงาน ผู้ดูแลหรือครอบครัวที่ไปกับเราก็อาจต้องช่วยเตรียมงานต่างๆ หรือช่วยรักแขก ถ้าเป็นกรณีนี้ การที่เขาจะมานั่งอยู่ที่โต๊ะเป็นเพื่อนเราก็คงทำไม่ได้ หรืออาจจะได้แต่ไม่นาน ส่วนแขกคนอื่นๆ เขาก็อาจไม่รู้จักเรา ไม่รู้กระทั่งว่าเราตาบอด ดังนั้นก็อาจไม่ได้รับการดูแล อำนวยความสะดวก หรือช่วยเหลือสักเท่าไหร่ ซึ่งหากคนตาบอดต้องไปนั่งอยู่ด้วยสภาพแบบนั้นเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นครึ่งวัน ก็คงอดคิดไปไม่ได้ ว่าตัวเองเป็นส่วนเกิน ตัวเองถูกละเลย ตัวเองไม่มีอิสระเหมือนแขกคนอื่นๆ

ประการที่สี่ คนตาดีบางส่วนมักมีแนวความคิดว่าคนตาบอดร้องเพลงเก่ง ดังนั้นเมื่อมีงานทำนองนี้ จึงชอบคะยั้นคะยอให้คนตาบอดออกไปแสดงความสามารถ

ความเชื่อแบบนี้ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความเป็นจริงแล้วคนตาบอดก็ไม่ได้ต่างจากคนตาดีเลย มีทั้งคนร้องเพลงเก่งและไม่เก่ง เมื่อถูกเรียกร้องให้ออกไปร้องเพลง คนตาบอดคนนั้นเขาอาจร้องเพลงไม่เป็น หรืออยู่ในอารมณ์ที่ไม่อยากร้องก็ได้ แต่หลายครั้งก็จำเป็นต้องออกไปร้อง ด้วยทานเสียงเรียกร้องของผู้ใหญ่ไม่ไหว

ประการที่ห้า เมื่อไปงาน หลายครั้งที่คนตาบอดมักถูกถามเรื่องงานหรือครอบครัว ซึ่งคนตาบอดบางคนก็ไม่ได้อยากตอบ

แน่นอนว่าในประเด็นนี้ ไม่ว่าเป็นคนตาดีหรือตาบอดก็คงถูกถามไม่ต่างกัน แต่หากเป็นของคนตาบอด ส่วนใหญ่ก็จะถามในแง่กึ่งสงสานเห็นใจซะมากกว่า ยิ่งหากเป็นเรื่องคู่ชีวิต ก็ยิ่งมีความซับซ้อน เช่นทำไมไม่หาแฟนตาดี จะได้มาเลี้ยงดูพ่อแม่แทนเรา ไม่ก็จะได้มาดูแลเรา อย่าไปเอาคนตาบอดเหมือนกันนะ ฯลฯ พอเจอแบบนี้บ่อยเข้า ก็เลยพลอยให้คนตาบอดไม่อยากไปงานแบบนี้สักเท่าไหร่

ด้วยเหตุหลายประการที่กล่าวมาแล้ว คนตาบอดส่วนหนึ่งจึงมักจะเอ่ยคำปฏิเสธเมื่อถูกคนในครอบครัว ญาติๆ หรือเพื่อนๆ ชวนไปงานประเภทงานบุญ งานแต่งงาน งานบวช หรืองานอื่นๆ เพราะหากไปเจอกับสภาพงานที่ไม่โอเค มานึกอยากจะกลับบ้านเอาตอนนั้นก็คงเป็นไปได้ยากแล้ว

ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าคนตาบอดหยิ่ง คนตาบอดเก็บตัว หรือคนตาบอดอายที่จะออกไปข้างนอก แต่มันเป็นเพราะหากไปแล้ว ผู้ดูแลไม่พร้อมดูแล หรือสภาพภายในงานไม่โอเค คนตาบอดก็จะต้องนั่งทนอยู่ตรงนั้น จะกลับก็ทำไม่ได้ จะเดินหนีออกไปที่อื่นก็ลำบาก ก็เลยตัดปัญหาโดยการไม่ไปเอาตรงๆ

และนี่คือความคิดของคนตาบอดอีกประเด็นหนึ่งที่ Blind Living ต้องการนำเสนอให้คนตาดีเข้าใจคนตาบอดมากขึ้น และหวังว่าความเข้าใจดังกล่าว จะทำให้คนตาบอดใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet

อันนี้จริง

แสดงความคิดเห็น