“ ฟ้ามีตา ฟ้ามีตาจริงๆ...”
ในช่วงเวลาสั้นๆ 4-5 นาทีที่ชายชราตาบอดคนนี้พูดถึงความรู้สึกที่เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง เขาพูดประโยคหนึ่งถึงสองครั้ง “ฟ้ามีตา ฟ้ามีตาจริงๆ...”
เครื่อง ศรีบัวพันธุ์ เป็นคนตาบอดผู้ไม่ยอมแพ้ชีวิตและเพราะความมุ่งมั่น ไม่ยอมพ่ายแพ้นี่เอง เขาจึงเป็นหมอนวดตาบอดแผนไทยคนแรกและได้ถากถางให้เพื่อนคนไทยที่มีชะตากรรมเดียวกันได้มีที่ยืนในสังคมอย่างสง่าผ่าเผย และช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งสังคมได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ทำไมเขาถึงควรค่าแก่การเป็นบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง โปรดสดับจากคำประกาศจากบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง 2561 ดังนี้
“นายเครื่อง ศรีบัวพันธุ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นลูกคนที่ ๕ ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน ที่บ้านประกอบอาชีพค้าขายสินค้าหลายประเภท นับว่าเป็นครอบครัวที่พอมีฐานะ เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ชีวิตพลิกผันขณะเรียนอยู่โรงเรียนประชาบาลวัดปทุมชาติ ช่วงเดือนมีนาคมกำลังสอบไล่ขึ้นชั้นประถมปีที่ ๓ เขารู้สึกปวดศีรษะ
หลังจากมีไข้สูงต่อเนื่องมาหลายเดือน ในค่ำคืนวันหนึ่ง เกิดอาการช็อกและสลบไปเป็นเวลานานจนพ่อแม่คิดว่าได้สูญเสียลูกรัก เหมือนปาฏิหาริย์เด็กชายเครื่องรอดชีวิตมาได้อย่างไม่คาดคิด แต่เมื่อได้ชีวิตกลับคืนมาก็เหมือนต้องมีสิ่งหนึ่งแลกไป ดวงตาของเขาต้องมืดมิดลง นับแต่นั้นเป็นต้นมา นายเครื่อง ศรีบัวพันธุ์ มิได้จำยอมกับชะตาชีวิต เขาตัดสินใจเดินทางมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
เพราะเห็นว่าการศึกษาจะช่วยสร้างโอกาสให้กับชีวิตและสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองโดยไม่ต้องรอรับการช่วยเหลือจากคนอื่น ในยุคเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว การเรียนการสอนสำหรับคนพิการไม่ได้มีอยู่กว้างขวางเช่นปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายเครื่องท้อถอย ยิ่งเพิ่มการแสวงหาการเรียนรู้ไม่หยุดหย่อน
หลังจบมัธยมปีที่ ๓ เขามุ่งเรียนงานช่างเย็บหนัง และเริ่มหารายได้ด้วยการเย็บกระเป๋าหนังขายส่งให้กับบริษัทรถเมล์ขาวนายเลิศ แม้ว่าการเริ่มต้นทำงานน่าจะพอมีรายได้อยู่บ้าง แต่นายเครื่องไม่คิดเช่นนั้น เขาเห็นว่างานช่างฝีมือของตนคงสู้ช่างเย็บหนังที่สายตามองเห็นไม่ได้ เขาจึงเริ่มต้นแสวงหาอาชีพอิสระ เช่นเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องกลับมาขายหมากฝรั่งหน้าโรงภาพยนตร์ และเดินขายลอตเตอรี่
อยู่มาวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นายเครื่องได้ฟังรายการวิทยุออกอากาศโดยหลวงบุเรศบำรุงการพูดถึงความสำคัญของป่าสมุนไพรและกล่าวถึงการนวดไทย ทั้งแนะนำว่า สมาคมแพทย์แผนโบราณวัดปรินายกเปิดการสอนนวดไทย เหมือนเสียงสวรรค์ผ่านมาทางวิทยุ นายเครื่องตัดสินใจไปขอเรียนวิชานวดไทยกับอาจารย์เจือ ขจรมาลี นายกสมาคมและครูสอนนวดไทย
แต่อาจารย์ไม่ยอมรับเป็นศิษย์เพราะไม่เคยสอนนวดให้คนตาบอด จนกระทั่งนายเครื่องยืนยันหนักแน่นว่า “ถ้าอาจารย์สอนผมไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ แต่เป็นความผิดของผมเองที่เรียนวิชาจากครูไม่ได้”
หากนึกภาพสังคมไทยในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่คนพิการทางการเห็นคนแรกของประเทศได้โอกาสเรียนวิชานวดไทย ย่อมรู้ว่า ไม่เพียงการต่อสู้กับความคิดความเชื่อของสังคมที่มองว่าการแพทย์แผนไทยและการนวดไทยนั้นเป็นคล้ายความรู้ต้องห้าม หรือเรื่องงมงายที่ไม่ควรไปเรียนรู้ รัฐเองก็ไม่สนใจส่งเสริมสนับสนุน มีเพียงภาคชาวบ้านรวมตัวกันสืบต่อภูมิปัญญาไว้ และยิ่งเป็นคนพิการที่มาเรียนเป็นหมอนวดแล้ว จะมีสักกี่คนที่ศรัทธาเชื่อถือ
แต่ด้วยพลังกายและใจของนายเครื่อง ที่มีความเพียรพยายามอย่างไม่ลดละ และการคิดถึงพี่น้องคนพิการคนอื่นๆ ให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง เขาจึงเชื่อมั่นในวิชานวดไทย จนสามารถสร้างทางเลือกสายใหม่ อาชีพใหม่ให้คนพิการ
ต่อมานายเครื่อง จึงตัดสินใจจัดตั้งโรงเรียนนวดเพื่อใช้ความรู้ความชำนาญของตนเองถ่ายทอดให้กับคนพิการคนอื่น ๆ และต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายรวมทั้งภรรยาคู่ชีวิตนางออรอรา ศรีบัวพันธุ์ ในการก่อตั้ง มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด โดยตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับ มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพและเป็นครูของนายเครื่อง
กล่าวได้ว่านายเครื่อง คือ หมอนวดคนพิการทางการเห็นคนแรก และเป็นแบบอย่างแรงบันดาลใจให้กับคนพิการทางการเห็นอีกจำนวนมากมาอย่างยาวนาน ได้ช่วยคนพิการมีอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจ รุ่นแล้วรุ่นเล่า
ครูโกมล คีมทอง เคยกล่าวถึง “อิฐก้อนแรก” อุดมคติของการทำงานให้เป็นรากฐานให้กับคนรุ่นต่อไป งานของนายเครื่องที่ริเริ่มบุกเบิกไว้ก็คืออิฐก้อนแรกให้กับคนพิการทางการเห็น ส่งผลให้เกิดเครือข่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็น ๑ ใน ๔ ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายรับรองให้คนพิการทางการเห็นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ และในเวลานี้มีคนพิการทางการเห็นราว ๗๐ คน, สามารถสอบผ่านได้รับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย
ด้านการนวดไทย อิฐก้อนแรกได้ยกระดับจากผู้พิการรอรับการสงเคราะห์มาสู่หมอนวดไทยรักษาผู้ป่วยได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทงานเพื่อคนอื่น ๆ ด้วยความรักและปรารถนาดีให้คนพิการมีโอกาส มีที่ยืน มีงานทำในชีวิตไม่เป็นภาระให้กับสังคม และได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถของคนพิการให้เป็นที่ประจักษ์
จึงขอยกย่อง ครูเครื่อง ศรีบัวพันธุ์ เป็นบุคคลเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๖๑ ของมูลนิธิโกมล คีมทอง”
ผมคิดว่า สิ่งที่ครูเครื่องทำนั้นยิ่งใหญ่มาก แต่ก็ไม่มีคนเห็น โชคดีที่มูลนิธิเล็กๆแห่งนี้เห็นเข้าในช่วงที่ครูเครื่องยังมีชีวิตอยู่ ครูเครื่องคงไม่ได้หวังอะไรแต่ที่ท่านพูดเหมือนรำพึงถึงสองครั้งว่า “ฟ้ามีตา ฟ้ามีตาจริงๆ...” นั้น หวังว่า คำประกาศนี้จะนำมาซึ่งความชุ่มชื่นใจและพลังใจให้ท่านและผู้พิการทางสายตาทั้งมวล รวมทั้งคนที่เพียรพยายามในการบำเพ็ญกิจอันควรในฐานะอิฐไม่ว่าก้อนแรกหรือก้อนไหนๆก็ตามได้มีพลังใจเพิ่มขึ้น
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า บทความที่ท่านได้อ่านจบไป ทางทีมงาน blind living ไม่ได้เป็นคนเรียบเรียงแต่อย่างใด เพียงแค่นำมาแก้คำเล็กน้อยเท่านั้น
หากจะอ้างถึงที่มา ก็ไม่แน่ชัดอีก เนื่องเพราะพบแชร์กันมาทางเฟซบุ๊กมาก แต่ด้วยเกี่ยวเนื่องกับบุคคลสำคัญของคนตาบอด ทำให้ผมนำเรื่องราวของท่านมาลงไว้ตรงนี้ด้วยครับ
ขอบคุณที่มาจาก Facebook
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด